ผลการศึกษาพัฒนาให้นักเรียนมีทักษะแห่งศตวรรษที่ 21

“ในปีการศึกษา 2565 กรุงเทพมหานครได้ดำเนินการศึกษาพัฒนาให้นักเรียนมีทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 รูปแบบ Active Learning……”

โดยมีเป้าหมายให้นักเรียนมีทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณและการแก้ปัญหา (Critical Thinking / Problem-Solving) ทักษะการคิดเชิงสร้างสรรค์ (Creativity) ทักษะการสื่อสาร (Communication) และทักษะการทำงานเป็นทีม (Collaboration) โดยนำร่องนำระบบอินเทอร์เน็ตและคอมพิวเตอร์พกพามาพัฒนาห้องเรียนให้เป็นห้องเรียนดิจิทัล ได้ร่วมมือภาคเอกชนรับบริจาคคอมพิวเตอร์พกพา และผู้เชี่ยวชาญจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยดำเนินการวิจัยในระดับชั้นประถมศึกษา 4 ที่โรงเรียนไทยนิยมสงเคราะห์ สำนักงานเขตบางเขน จำนวน 1 ห้องเรียน จัดการเรียนรู้ด้วย Google Workspace for Education เปลี่ยนการเรียนการสอนจาก Lecture-based ให้เป็น Active-based ใน 7 วิชา ได้แก่ คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ คอมพิวเตอร์ ดนตรี วิทยาศาสตร์ ภาษาไทย และประวัติศาสตร์ โดยกลุ่มควบคุมที่เรียนด้วยวิธีการจัดการเรียนรู้ตามปกติ และกลุ่มควบคุมที่เรียนโดยใช้ Google Solution และคอมพิวเตอร์พกพา (Chromebook) ผลการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่า นักเรียนกลุ่มทดลองมีคะแนนเฉลี่ยจากแบบทดสอบ ทั้ง 7 วิชา สูงกว่านักเรียนกลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05

          ด้านทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ของนักเรียน  โดยการวิเคราะห์นำผลการประเมินในครั้งที่ 1 ครั้งที่ 2
และครั้งที่ 3 มาวิเคราะห์ข้อมูล พบว่าในภาพรวมนักเรียนมีคะแนนเฉลี่ยทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 สูงขึ้นตามลำดับ

          ด้านการใช้งานพบว่านักเรียนส่วนใหญ่ชอบเรียน ด้วยคอมพิวเตอร์พกพา (Chromebook) ทุกวิชา เนื่องจากสะดวกต่อการเรียนรู้ การค้นหาข้อมูล นักเรียนได้ฝึกการคิดวิเคราะห์และการแสดงความคิดเห็นผ่านโปรแกรมที่ทันสมัย นักเรียนรู้สนุกในการเรียนรู้ ได้ฝึกทักษะในการใช้อุปกรณ์เทคโนโลยีและการใช้โปรแกรมใหม่ ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการเรียนและสามารถนำไปใช้ในชีวิตจริงได้ ซึ่งนักเรียนรู้สึกสนุก มีความสุขในการเรียน พัฒนาความคิดสร้างสรรค์ และยังได้ใช้เทคโนโลยีเพื่อเสริมสร้างการเรียนรู้ที่ดีขึ้น

          ด้านความสามารถในการจัดการเรียนรู้โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศของครูผู้สอน ในระยะเริ่มต้น คือ ก่อนเริ่มโครงการครูมีความสามารถในระดับเริ่มต้น (Novice) ในระยะกลาง ครูมีความสามารถในการจัดการเรียนรู้สูงขึ้น (Competence) และในระยะปลาย ครูความสามารถในการจัดการเรียนรู้ในระดับชำนาญ (Proficient) โดยครูผู้สอนมีความคิดเห็นว่าช่วยประหยัดเวลาในการสอนและการตรวจงานนักเรียนได้อย่างดี เห็นด้วยกับการขยายผลโครงการสำหรับนักเรียนทุกห้องเรียน และขยายผลไปยังโรงเรียนอื่น ๆ ในสังกัดกรุงเทพมหานครให้ทั่วถึง

          จากผลการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้แบบ Active Learning นำระบบอินเทอร์เน็ตและคอมพิวเตอร์พกพามาพัฒนาห้องเรียนให้เป็นห้องเรียนดิจิทัล ที่ส่งผลให้เกิดการยกระดับการเรียนรู้ดิจิทัล และทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ของนักเรียนได้อย่างดี ในปีการศึกษา 2566 กรุงเทพมหานครจึงได้มีดำเนินการขยายผลรูปแบบการดำเนินการโครงการให้ครอบคลุมไปยังโรงเรียนอื่น ๆ ในสังกัดกรุงเทพมหานคร ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 ซึ่งได้เริ่มขั้นตอนเตรียมห้องให้พร้อมเป็นห้องเรียนดิจิทัล โดยมีระบบอินเทอร์เน็ตพร้อมอุปกรณ์สัญญาณไร้สายในห้องเรียน มาพัฒนาครูผู้สอนในหลักสูตรการใช้สื่อและนวัตกรรมที่ทันสมัย และได้เปิดกิจกรรม “คอมเก่าสู่คนใหม่ เรียนรู้ไกลไม่สิ้นสุด” รับบริจาคคอมพิวเตอร์พกพาเก่าแต่ยังมีคุณภาพเพื่อเป็นเครื่องมือให้นักเรียนใช้เรียนรู้ กำหนดเป้าหมายปี 2566 จำนวน 2,200 เครื่อง เป้าหมายปี 2567 รวมจำนวน 14,700 เครื่อง เป้าหมายปี 2568 รวมจำนวน 58,70 เครื่อง และเป้าหมายปี 2569 รวมจำนวน 130,000 เครื่อง