กรุงเทพมหานครนำร่องจัดการเรียนรู้ด้วยเทคโนโลยีในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร

โรงเรียนไทยนิยมสงเคราะห์ สำนักงานเขตบางเขน ได้จัดการเรียนรู้ด้วย Chromebook โดยสำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร The S curve ร่วมมือกับคณะผู้วิจัยจาก ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมการศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินการวิจัยภายใต้โครงการห้องเรียนดิจิทัลเพื่อพัฒนาสมรรถะผู้เรียนสู่พลเมืองโลกด้วยเทคโนโลยี โดยมีวัตถุประสงค์ 3 ข้อ คือ

1) เพื่อออกแบบและพัฒนาการบูรณาการการเรียนเชิงรุกร่วมกับ Google Workspace and Chromebook เพื่อส่งเสริมทักษะในศตวรรษที่ 21 ของนักเรียนประถมศึกษาในสังกัดกรุงเทพมหานคร

2) เพื่อศึกษาการบูรณาการการเรียนรู้ของครูในการใช้ Google Workspace and Chromebooks ร่วมกับการเรียนเชิงรุกเพื่อส่งสริมทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ของนักเรียนประถมศึกษาในสังกัดกรุงเทพมหานคร

และ 3) เพื่อศึกษาผลลัพธ์การเรียนของนักเรียนในการใช้ Google Workspace and Chromebooks และการเรียนเชิงรุกเพื่อส่งเสริมทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ของนักเรียนประถมศึกษาในสังกัดกรุงเทพมหานคร

กรุงเทพมหานคร มีวิสัยทัศน์ในการมุ่งมั่นจัดการศึกษาให้ผู้เรียนสุขภาวะดี มีคุณธรรมนำความความเป็นไทย ใส่ใจเทคโนโลยี บนพื้นฐานปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สู่ความเป็นสากล ซึ่งเมื่อพิจารณาถึงทักษะในศตวรรษที่ 21 ประกอบด้วย  ทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณและการแก้ปัญหา (Critical Thinking /Problem-Solving) ทักษะการคิดเชิงสร้างสรรค์ (Creativity) ทักษะการสื่อสาร (Communication) และทักษะการทำงานเป็นทีม (Collaboration) ถือเป็นทักษะที่สำคัญที่โรงเรียนควรพัฒนาและส่งเสริมให้เกิดขึ้นกับผู้เรียน ในการวิจัยดำเนินการเก็บข้อมูลกับกลุ่มตัวอย่างนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จำนวน 29 คน โดยนักเรียนจะได้ทำกิจกรรมการเรียนเชิงรุกร่วมกับ Google Workspace and Chromebooks เพื่อส่งเสริมดนตรี วิทยาศาสตร์ทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 โดยจัดการเรียนรู้ทั้งหมด 7 วิชา ได้แก่ คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ คอมพิวเตอร์ ภาษาไทย และประวัติศาสตร์

การดำเนินการเริ่มจากการจัดเตรียมอุปกรณ์ Chromebooks และการตั้งค่ Chrome Education Upgrade เพื่อให้มีความปลอดภัยและมีสภาพแวดล้อมทางการเรียนที่เหมาะสมสำหรับครูและนักเรียนต่อมาเป็นการสร้างการรับรู้และวิสัยทัศน์ร่วมกันเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านโรงเรียนสู่โรงเรียนดิจิทัล Digital Transformation with Google Workspace for Education) จากนั้นเป็นส่วนที่สำคัญที่สุดคือการพัฒนาครูกลุ่มเป้าหมาย 3 ระยะคือ การศึกษาแบบตัวต่อตัว โดยผู้เชี่ยวชาญในระยะแรก และขยายผลเป็นการศึกษาแบบเป็นกลุ่มเล็กๆ ที่ครูจะได้เรียนรู้การใช้ GoogleWorkspace for Education และ Chromebook เพื่อนำไปจัดกิจกรรมการเรียนการสอน และสุดท้ายเป็นการทบทวนหลังการปฏิบัติและหารือร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาเพื่อให้การจัดการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2566 ณ สำนักงาน Google ประเทศไทย นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นางสาวศุภร คุ้มวงศ์ นายทรงศร กัลยา ณ สุนทร รองผู้อำนวยการสำนักการศึกษา พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ครูจากโรงเรียนไทยนิยมสงเคราะห์ และเจ้าหน้าที่จากสำนักการศึกษา ได้เข้าร่วมรับฟังสรุปผลการดำเนินงานจากคณะผู้วิจัยนำโดย รศ.ดร.ประกอบ กรณีกิจ และคณะคุณครูที่เข้าร่วมโครงการได้ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์และเสนอแนะต่อผู้บริหาร ซึ่งผลการดำเนินการเป็นประโยชน์ทั้งต่อนักเรียนและครู นักเรียนที่เรียน มีคะแนนเฉลี่ยจากแบบทดสอบสูงกว่านักเรียนที่ไม่ได้เรียนผ่าน Chromebook และครูที่เข้าร่วมโครงการทั้งหมดเห็นด้วยกับการขยายผลใช้กับโรงเรียนทุกห้อง ถือเป็นความสำเร็จก้าวแรกของการพัฒนาการศึกษาโดยใช้เทคโนโลยี (Digital Transfermation) เพื่อให้จัดการศึกษาได้อย่างเท่าเทียมและมีคุณภาพ

นอกจากนี้รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้ให้เกียรติมอบประกาศนียบัตรให้แก่ครูที่เข้าร่วมโครงการในครั้งนี้ด้วย

ข้อมูลจากเพจสำนักการศึกษา